1. สามผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำไต้หวันโต้วาทีเผ็ดมันส์
นอกจากงานเคาท์ดาวน์ที่มันส์สุดขีดแล้ว ในสัปดาห์นี้ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในไต้หวันก็คือประเด็นด้านการเมืองที่กำลังร้อนระอุ เพราะเหลืออีกไม่กี่วันก็จะเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการกลางการเลือกตั้ง ได้จัดให้มีการโต้วาทีทางโทรทัศน์ของ 3 ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สมัยที่ 15 ครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 29 ธ.ค ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
เรียงจากซ้ายไปขวา : ไช่อิงเหวิน ผู้นำคนปัจจุบัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) นายซ่งฉู่อวี๋ ผู้สมัครจากพรรคพีเพิลเฟิรสต์ (PFP) และนายหานกั๋วอวี๋ ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง(KMT)
โดยมีไช่อิงเหวิน ผู้นำคนปัจจุบัน เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) หานกั๋วอวี๋ ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และนายซ่งฉู่อวี๋ ผู้สมัครจากพรรคพีเพิลเฟิรสต์ (PFP) ปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อน ชาวไต้หวันจำนวนมากเฝ้าชมการโต้วาทีผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์กันอย่างใจจดใจจ่อ
ชาวไต้หวันทั่วประเทศติดตามชมการถ่ายทอดสดโต้วาทีของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 3
2. ไต้หวันได้รับการขนานนามว่าเกาะแห่งการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รัฐแทบทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งและชาวไต้หวันทุกระดับชั้น คลั่งไคล้การเมือง
ไต้หวันจัดการเลือกตั้งเกือบทุกปี และเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง ได้รับการขนานนามว่า เกาะแห่งการเลือกตั้ง บวกกับคนไต้หวันคลั่งการเมือง ทำให้การเลือกตั้งทีไร มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก
ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP)
ผู้สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT)
ไต้หวันจัดเป็นเกาะเลือกตั้งจริงๆ ประชาชนเป็นผู้เลือกเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่างๆ แทบทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศได้แก่ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี สมาชิกสภานิติบัญญัติ ระดับท้องถิ่น ได้แก่ผู้ว่าการเมืองต่างๆ สมาชิกสภาเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งหมด 9 รายการ นี่ยังดีที่ได้รวบรวมการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งหมด เลือกตั้งในคราวเดียววันเดียวกัน ทำให้ลดความถี่ในการเลือกตั้งลงไปบ้าง โดยปัจจุบัน ไต้หวันต้องจัดการเลือกตั้งทุก 2 ปี ได้แก่การเลือกตั้งระดับประเทศและท้องถิ่นสลับกัน อย่างการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มกราคม 2563 นี้ เป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ โดยจะเลือกผู้นำประเทศและ สส. ขณะที่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ปีที่แล้ว เพิ่งเลือกตั้งระดับท้องถิ่น บรรดาผู้ว่าการเมือง สภาเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้านรวม 9 รายการ และในเดือนสิงหาคมปีนี้ จะจัดให้มีการลงประชามติในประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ เช่นสมควรเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงที่ 4 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วต่อไปหรือไม?
สภาพการต่อแถวหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อ 24 พ.ย. ปี 2561
อาจเป็นเพราะมีการเลือกตั้งเป็นประจำ ประกอบกับประชาชนแบ่งแนวความคิดและให้การสนับสนุนออกเป็น 2 ค่าย ได้แก่ค่ายสีน้ำเงินและค่ายสีเขียว ความจริงทั้ง 2 ค่ายต่างมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเกาะไต้หวันให้เจริญก้าวหน้าเหมือนกัน เพียงแต่วิธีการแตกต่างกัน แต่นโยบายที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่จะแตกต่างกันค่อนข้างชัด คือค่ายสีเขียวชูนโยบายต้องการเป็นเอกราช ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ และฝักใฝ่อเมริกา ญี่ปุ่น ขณะที่ค่ายสีน้ำเงินต้องการเป็นมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่ อเมริกาและญี่ปุ่นพร้อมๆ กัน นักการเมืองทั้ง 2 ค่าย มีกลวิธีหาเสียงดึงดูดประชาชนให้หันมาสนับสนุนตน ทำให้การเลือกตั้งในไต้หวัน ไม่ว่าจะระดับไหน ล้วนแล้วแต่คึกคักทั้งสิ้น ดูจากอัตราส่วนผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้งค่อนข้างสูง อย่างการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อปีที่แล้ว 68.87% การเลือกตั้งระดับประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 63 คาดว่าคงจะไล่เลี่ยกัน
เวทีหาเสียงเลือกตั้งของทั้ง 2 ค่าย
คนต่างชาติมักจะงงว่า ทำไมบรรยากาศการเลือกตั้งในไต้หวัน ถึงได้คึกคัก สาเหตุสำคัญ นอกจากพรรคการเมือง แม้จะเข้าร่วมเลือกตั้งนับเป็น 10 พรรค แต่ว่ากันตามจริงมีเพียง 2 พรรคใหญ่ คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือ DPP และพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ KMT นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ทำให้การหาเสียงดูแตกต่างกันชัดเจน ประชาชนสนันสนุนพรรคการเมืองค่ายใครค่ายมัน ประกอบกับทั้ง 2 ค่ายมักมีวิธีการหาเสียงที่กระตุ้นเร้าใจผู้สนับสนุนให้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ จึงทำให้เวทีหาเสียงของทั้ง 2 ค่าย ต้องแข่งกันที่จำนวนคน บรรยากาศและความยิ่งใหญ่
เวทีหาเสียงเลือกตั้งของทั้ง 2 ค่าย
การหมกมุ่นกับบรรยากาศด้านการเมืองมากเกินไป ผลก็คือ ประชาชนจำนวนมากเกิดโรคกลุ่มอาการการเลือกตั้ง อย่างเช่น กระวนกระวาย ไม่สบายใจ มีอารมณ์ฉุนเฉียว เกิดอาการกลัว หวาดระแวง มีปัญหามนุษย์สัมพันธ์และนอนไม่หลับ โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่แพ้การเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนจะเกิดอาการเศร้าเสียใจ ขณะที่ผู้สนับสนุนของฝ่ายที่คว้าชนะ ก็มีโอกาสป่วยได้เช่นกัน เพราะดีใจจนเลยเถิด
คุณหมอจึงเตือนว่า อย่าคลั่งไล้เกินไป เดียวจะเกิดโรคคลั่งการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ายินดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ แม้การหาเสียงเลือกตั้งในไต้หวันจะดุเดือดเข้มข้น แต่ก็จบลงด้วยความราบรื่นสันติ ไม่ค่อยมีปัญหาหรือจลาจลนองเลือด
การไหว้พระขอพรเป็นกิจกรรมสำคัญของผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้งของไต้หวัน